ทำไมรัฐบาลจึงควรเก็บภาษีคนถูกหวย?



ทำไมรัฐบาลจึงควรเก็บภาษีคนถูกหวย?
 
"ต้องยอมรับว่าขณะนี้บ้านเรามีคนเป็น โรคติดพนัน ไม่น้อย ติดแบบป่วยไข้ ห้ามใจตัวเองไม่อยู่ บังคับตัวเองไม่ได้ รู้ทั้งรู้ว่าถ้าเข้าไปเล่นแล้วจะต้องเสียกลับมา เสียแบบหนัก ๆ ที่ไม่ใช่แค่ร้อยสองร้อยด้วย นี่คืออาการเสพติดที่เรียกว่า “โรคสมองติดพนัน” จนเกิดการสูญเสียการควบคุม เหมือนรถที่เบรคไม่ทำงาน มีแต่คันเร่งอย่างเดียวที่นำพาไปสู่หายนะ"
 
ถามว่าคนไทยติดพนันอะไรกันบ้าง? ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ช่วยให้ความกระจ่างไว้ว่า
 
1. กาสิโนออนไลน์ ราว 45% ของผู้เล่นมีอาการติด
 
2. จำพวกหวยรายวัน ที่เล่นกันถี่ ๆ รู้ผลเร็ว ๆ ราว 40% ต้น ๆ ยอมรับว่าติด
 
5. หวยใต้ดินกับสลากกินแบ่งรัฐบาล มีคนติดพอ ๆ กันราว 20กว่าเปอร์เซนต์ต้น ๆ ของจำนวนผู้เล่น
 
เมื่อการพนันเป็นต้นเหตุให้เกิดการเจ็บไข้ได้ป่วยในสังคมเช่นนี้ จึงสมควรเรียกร้องให้ผู้ประกอบการกิจการพนันต้องจ่ายคืนบางส่วนมาให้สังคมตามหลัก Polluter Pay Principle (PPP) ไม่ต่างจากกิจการอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดน้ำเสีย หรืออากาศเป็นพิษต่าง ๆ หรืออื่น ๆ
 
แต่เมื่อหันไปดูตัวต้นเหตุที่ยกมากล่าวอ้างข้างต้น พบว่า เป็นการพนันที่ผิดกฎหมายเกือบทั้งหมด มีเพียงชนิดเดียวที่เป็นพนันถูกกฎหมายและเป็นการพนันโดยรัฐเป็นผู้ประกอบการด้วย นั่นคือ สลากกินแบ่งรัฐบาล กิจการสลากฯจึงตกเป็นจำเลยโดยชอบธรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
 
อาจมีคำถามตามมาว่า แล้วที่ผ่านมาไม่มีการเก็บภาษีจากกิจการนี้หรือ? คำตอบคือ ยังไม่มีการเก็บภาษีตามหลัก PPP ที่ว่ามา แต่มีการจ่ายหรือแบ่งส่วนรายได้ในลักษณะอื่น เช่น แบ่งรายได้ 23% ให้แก่รัฐบาลตามข้อกำหนดของกฎหมาย พ.ร.บ.สำนักงานสลากฯ เป็นต้น
 
หรือในอีกด้านหนึ่ง ในฝั่งของผู้ถูกรางวัล ก็ต้องจ่ายไม่ใช่หรือ? คำตอบคือ จ่ายจริง แต่จ่ายคืนในรูปของค่าอาการสแตมป์ 0.5% เพียงเท่านั้น แต่ภาษีรายได้ถูกยกเว้นเอาไว้ !!!
 
เรื่องนี้ต้องย้อนหลังไปไกลหลายสิบปี ก่อนหน้านี้บ้านเรามีการเก็บภาษีอากรบ่อนเบี้ยมาแต่โบราณ จนล้นเกล้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชากาลที่ 5 เห็นว่าการพนันจะทำให้บ้านเมืองฉิบหายได้ จึงให้ยกเลิกการพนันหลายตัวไป หนึ่งในนั้นคือ หวย ก.ข. อันเป็นที่นิยม ส่วนภาษีอาการบ่อนเบี้ยก็ถูกยกเลิกอย่างถาวรไปในสมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ 6
 
ครั้นเมื่อรัฐบาลหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร เห็นดีเห็นงามกับแนวทางแบบตะวันตก ที่ใช้ล็อตเตอรี่เป็นกิจการระดมทุนเข้ารัฐ โดยเห็นตัวอย่างจากประสบการณ์การออกสลากเพื่อระดมทุนเป็นบางครั้ง
 
ครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 และครั้งที่สองในสมัยรัชกาลที่ 6 และต่อมาก็เริ่มมีการขอออกสลากของเทศบาลต่าง ๆ เพื่อขอระดมทุนเป็นราย ๆ ไป
 
สุดท้ายรัฐบาลกลางจึงตัดสินใจทำกิจการนี้เสียเอง ด้วยเห็นว่าสามารถสร้างรายได้ให้รัฐได้เป็นกอบเป็นกำ
 
แต่ด้วยความที่เป็นกิจการใหม่เกรงว่าจะไม่เป็นที่นิยมของประชาชน ประมวลรัษฎากรอันเป็นกฎหมายภาษีของบ้านเราในสมัยนั้น จึงกำหนดให้มีการยกเว้นการเก็บภาษีบางรายการ ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันนี้
 
ได้แก่ รางวัลเพื่อการศึกษาหรือค้นคว้าในวิทยาการ รางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือสลากออมสินของรัฐบาล รางวัลที่ทางราชการจ่ายให้ในการประกวดหรือแข่งขันซึ่งผู้รับมิได้มีอาชีพในการประกวดหรือแข่งขัน หรือสินบนรางวัลที่ราชการจ่ายให้เพื่อประโยชน์ในการปราบปรามการกระทำความผิด เพื่อจูงใจให้ประชาชนสนับสนุนงานหรือกิจการของรัฐเป็นเหตุผลสำคัญ
 
ภาษีสลากกินแบ่งจึงยังไม่เคยถูกเก็บมาตั้งแต่อดีต ต่างจากการถูกรางวัลจากกิจการชิงโชคอื่น ๆ เช่น ชิงโชคโดยการส่งชิ้นส่วนผลิตภัณฑ์ไปชิงบ้าน ชิงรถ ชิงทอง เหล่านี้ล้วนต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 5% และผู้ได้รางวัลยังต้องยื่นรายการเพื่อคำนวณภาษีรายได้ประจำปีอีกด้วย
 
คำถามคือ? แล้วประเทศอื่นเขายกเว้นภาษีแบบบ้านเราหรือไม่?
 
คำตอบคือไม่ทั้งสองด้าน!!! ทั้งด้านของผู้ประกอบการ และด้านของผู้ถูกรางวัล ต่างก็ถูกเรียกเก็บภาษี
 
สหราชอาณาจักรเป็นประเทศต้นแบบของการเก็บภาษีจากกิจการสลากมาทำกองทุนสาธารณประโยชน์อย่างจริงจัง โดยเก็บถึง 28% นำมาเป็นกองทุน ขณะที่แบ่งเข้ารัฐบาลเพียง 10%
 
ขณะเดียวกันหลายประเทศในยุโรปและอเมริกามีการเก็บภาษีจากผู้ถูกล็อตเตอรี่ บางประเทศเก็บขั้นเดียว บางประเทศเก็บสองขั้นบ้าง สามขั้นบ้าง เจ็ดชั้นก็ยังมี เรียกว่าการเก็บภาษีแบบขั้นบันได (รายละเอียดดูในภาพประกอบ)
 
ทั้งหมดจึงนำมาสู่การทดลองคิดเล่น ๆ ว่า ถ้าหากรัฐบาลไทยเห็นดีเห็นงามกับแนวทางการหารายได้เข้ารัฐด้วยวิธีนี้ ซึ่งน่าจะทำได้ไม่ยาก รัฐบาลสามารถออกเป็นพระราชกฤษฎีกาหรือพระราชบัญญัติก็ได้
 
ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาบ้านเราเคยมีการแก้ไขประมวลรัษฎากรมาแล้วถึง 54 ครั้ง นับแต่การประกาศใช้ปี 2482 มาถึงปี 2564
 
สมมติรัฐบาลเลือกเก็บภาษี 10% แบบยกเว้นรางวัลเล็ก เก็บเฉพาะรางวัลที่มีมูลค่าเกิน 100,000 บาทขึ้นไป ซึ่งก็มีเพียงรางวัลที่หนึ่งกับรางวัลที่สองเท่านั้น รางวัลอื่นไม่โดน
 
โดยรวมแล้วรัฐบาลจะมีรายได้จากภาษีตัวนี้ทั้งหมดกว่า หนึ่งพันห้าร้อยล้านบาทต่อปี
 
แถมในอีกด้านหนึ่ง เมื่อรัฐบาลเลือกการจำหน่ายสลากผ่านระบบดิจิตัล จำนวน 21 ล้านใบ (ณ ปัจจุบัน) รัฐบาลยิ่งน่าจะนำเงินจากการประหยัดต้นทุนที่ถูกลง ไม่ต้องเสียค่ากระดาษหรือค่าจัดการอื่น ๆ เพราะดิจิตัลช่วยทำแทน ให้บอร์ดของสำนักงานสลากฯมีมติให้แบ่งส่วนของรายได้หมวดค่าบริหารงาน ที่กฎหมายเขียนกำหนดว้าไม่เกิน 12% ให้แบ่งมาเพียง 5%
 
รัฐบาลจะได้เงินมาอีกราว สองพันล้านบาท รวมสองวิธีนี้รัฐบาลจะมีรายได้เพิ่มจากสิ่งที่พึงมีพึงได้อยู่แล้วร่วมสามพันห้าร้อยล้านบาท แบ่งจำนวนหนึ่งมาเป็นกองทุนเพื่อลดปัญหาพนัน ก็น่าจะทำประโยชน์ช่วยป้องกันปัญหา ช่วยลดปัญหา และช่วยเยียวยาผู้ประสบปัญหาได้มาก
 
ฝากไว้ให้คิดครับ !!! ได้ข่าวว่ารัฐบาลกำลังต้องการหารายได้เพิ่มอยู่ ยิ่งรัฐบาลกำลังมีแนวคิดจะสร้างรายได้จากกาสิโนด้วยแล้ว ยิ่งต้องสถาปนาหลักการนี้ให้เป็นแบบอย่าง เพื่อเร่งสร้างระบบป้องกันให้ทำงานก่อนที่จะเพิ่มสิ่งที่จะก่อผลกระทบตามมา
 
• ธนากร คมกฤส •
เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน